แมลงนูนหลวง

แมลงนูนหลวง

เตือนการระบาดศัตรูพืชประจำสัปดาห์

สัปดาห์ที่ 4 ประจำเดือน เมษายน 2562

 

เตือนเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยและมันสำปะหลังในสภาพดินทรายถึงดินร่วนปนทรายและมีอินทรียวัตถุต่ำ (๐.๕๖ – ๐.๘๔ %) ระวังการระบาดของแมลงนูนหลวงเนื่องจากช่วงนี้สภาพอากาศเหมาะต่อการระบาดของแมลงนูนหลวงซึ่งเป็นศัตรูที่สำคัญชนิดหนึ่งของอ้อยและมันสำปะหลังในอ้อยหากพบอาการใบอ้อยมีสีเหลืองคล้ายอาการขาดน้ำต่อมาใบอ้อยจะแห้งมากผิดปกติจนอ้อยแห้งตายไปทั้งกอในที่สุดกออ้อยที่ถูกเข้าทำลายสามารถถอนทั้งกอออกจากพื้นดินได้ง่ายให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอ เพื่อขอคำแนะนำและหา แนวทางป้องกันกำจัดก่อนเกิดการระบาดรุนแรง

พืชอาหาร :  อ้อย  มันสำปะหลัง  ยูคาลิปตัส มันแกว ปาล์มน้ำมัน ยางพารา และตะไคร้

ลักษณะการทำลาย
การเข้าทำลายของหนอนแมลงนูนหลวง จะปรากฏเป็นหย่อมไม่แพร่กระจายไปทั้งไร่ พบการทำลายน้อยในพื้นที่ลุ่มที่มีน้ำขัง และพบการทำลายมากในสภาพดินทรายปลูกในที่ดอน กออ้อยที่ถูกหนอนของแมลงนูนหลวงเข้าทำลายเพียงหนึ่งตัวต่อกอ จะทำให้อ้อยตายไปทั้งกอได้ ทำให้ผลผลิตของอ้อยลดลงจนเก็บผลผลิตไม่ได้ หนอนของแมลงนูนหลวงกัดกินรากอ้อยเป็นอาหาร อาการเริ่มแรกของอ้อยที่ถูกทำลายคล้ายกับอ้อยขาดน้ำ เนื่องมาจากความแห้งแล้ง คือ ใบอ้อยมีสีเหลือง ต่อมาใบอ้อยจะแห้งตายมากผิดปกติ ในที่สุดอ้อยจะแห้งตายไปทั้งกอ กออ้อยที่ถูกหนอนเข้าทำลายสามารถถอนทั้งกอออกจากพื้นดินได้ง่าย เนื่องจากรากอ้อยถูกทำลายหมด หากปีใดแห้งแล้งติดต่อกันการระบาดจะมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

กรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำวิธีการป้องกันกำจัด ดังนี้

๑. สำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง

๒. ไถพรวนดินหลายๆ ครั้ง เพื่อทำลายหนอนแมลงนูนหลวงและดักแด้ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม (ก่อนปลูกอ้อย) รวมถึงจับแมลงนูนหลวง (ตัวเต็มวัย) ก่อนการวางไข่ในช่วงเย็น เวลา ๑๘.๓๐ – ๑๙.๐๐ น. บริเวณต้นไม้ใหญ่ซึ่งแมลงจะจับเป็นคู่เกาะเพื่อผสมพันธุ์หรือ ในช่วงเช้า โดยสังเกตขุยดินบริเวณรอบๆ โคนต้น หรือห่างจากทรงพุ่มต้น ๑ – ๕ เมตร หากพบให้ทำการขุดจับและจับต่อเนื่องกันประมาณ ๑๕ – ๒๐ วัน ควรทำต่อเนื่อง ๒ – ๓ ปี

๓. ไร่อ้อยที่ถูกแมลงนูนหลวงเข้าทำลายมาก และคาดว่าจะไม่สามารถเก็บเกี่ยวได้ หรือไม่คุ้มค่า ควรรีบไถพรวนหลาย ๆ ครั้ง เพื่อทำลายตัวหนอนที่เข้าดักแด้ในดินลึกในเดือนธันวาคม นอกจากนี้เกษตรกรที่ปลูกอ้อยตั้งแต่เดือนมีนาคม – พฤษภาคม ควรพรวนดินหลาย ๆ ครั้งเพื่อทำลายไข่และตัวหนอนในดินก่อนการปลูกอ้อย

๔. การใช้เชื้อรา Beauveria bassiana ช่วยทำลายหนอน และดักแด้ในดิน โดยต้องมีความชื้นในดินสูง หรือใช้ในฤดูฝน เพื่อให้เชื้อราเจริญเติบโตได้ดี

 

 

ที่มา :  ๑. กรมส่งเสริมการเกษตร
          ๒. สถาบันวิจัยพืชไร่  กรมวิชาการเกษตร
          ๓. สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย
เรียบเรียงโดย :  กลุ่มพยากรณ์และเตือนการระบาดศัตรูพืช กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย